Admin BOTNOI GROUP

18 มิ.ย. 2566

Startup J Curve กราฟตัว J ของสตาร์ทอัพ (ตอนที่ 1 Create)

Startup J Curve กราฟตัว J ของสตาร์ทอัพ (ตอนที่ 1 Create)

ช่วง create เป็นช่วงเริ่มต้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้นสำหรับสตาร์ทอัพ และมีสามองค์ประกอบหลักที่รวมตัวกัน ไอเดีย ทีม และเงิน

  • ไอเดีย

ไอเดีย พยายามคิดว่าไอเดียนี้ nice to have หรือ must have ตรงนี้มันต่างกันมาก เมื่อกี้มีน้องมาเสนอว่า ให้ใช้ AI ทำให้เราร้องเพลงเพราะ ถ้าโจทย์นี้ผมคิดว่ามันเป็น nice to have คือมันไม่ใช่เรื่องคอ ขาดบาดตายขนาดนั้น แต่มันอาจจะเกิดก็ได้นะ เพียงแต่ถ้าเทียบกับโจทย์ช่วย hr สัมภาษณ์และคัดผู้สมัครงาน ดูจะจำเป็นกว่า หรือจะเป็นการช่วยพ่อค้าแม่ค้า ขายของ online ได้เพิ่มขึ้น ก็ลองลิสต์ idea ออกมาเยอะ ๆ แล้วฝึกเรียงลำดับจาก nice to have ไปถึง must have

นอกจาก must have แล้ว เราต้องคิดว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจาก idea จะขยายผล และ scale ได้หรือเปล่า คำว่า scale หมายความว่า ถ้าธุรกิจเราโตขึ้น 10 เท่า เราต้องใช้ทีมงาน หรือเงินเพิ่มขึ้น 10 เท่าหรือเปล่า ถ้าใช่ก็แสดงว่า scale ไม่ได้ แต่ถ้าธุรกิจโตขึ้น 10 เท่า แล้วเราลงทุนเพิ่ม 2 เท่า ถ้าธุรกิจโตขึ้น 100 เท่า แต่เราเพิ่มคนแค่ 10 เท่า อันนี้แสดงว่า scale ได้ ดูตัวอย่าง start up ต่างประเทศเยอะ ๆ เช่น Canva AirBnB Spotify Netflix ขยายตลาดไปทั่วโลก คนใช้หลายร้อยล้าน แต่ขนาดทีมก็ไม่ได้ต้องโตตาม

หลังจากนั้นเราจะต้อง validate ไอเดีย คือเราคิดว่าส่งที่เราทำมันดี น่าสนใจ แต่คนอื่นจะคิดเหมือนกับเราหรือเปล่า เริ่มจากถามตัวเองก่อน ว่าถ้าตัวเองเป็นลูกค้าจะซื้อมั้ย บางทีเราคิดว่าเจ๋ง แต่ให้จ่ายเงินซื้อมั้ย ก็ยังไม่ดีพอ หลังจากถามตัวเองก็ถามทีม co-founder หลังจากนั้นก็ถามคนใกล้ชิด เพื่อน ญาติ พ่อแม่ เพื่อนร่วมงาน จนไปถามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

บางครั้งมันก็มีความผิดหวัง บางครั้งก็มีอารมณ์นะ ทำไมเค้าไม่เข้าใจเรา ไม่ซื้อไอเดียเรา เราต้องใจเย็น ๆ และวิเคราะห์ หากเราถาม 10 คน แล้วมีคนซื้อไอเดียเราสัก 3 คน ผมก็ว่าก็พอใช้ได้แล้ว ส่วนอีก 7 คนที่เหลือ เค้าอาจจะไม่อิน ก็ต้องพยายามคิดว่า 7 คน เค้าต่างกับ 3 คนยังไง บางทีเราอาจจะเจอว่า 3 คนนั้นคือกลุ่มเป้าหมายเรา เพื่อยืนยันว่าใช่ ก็ลองไปหามาอีกที่อาจจะ อายุ เพศ นิสัย คล้าย ๆ กับ 3 คนนั้น

  • ทีม

สำคัญมาก การทำ start up มันเป็นเหมือนการเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง เดินคนเดียวบางคนก็บอกว่า สบายดี ไม่ต้องฟังใคร อยากไปไหนก็ไป อยากเปลี่ยนเส้นทางก็เปลี่ยน แต่การทำ start up มันก็เหนื่อยนะ บางทีรถเสียกลางทาง ก็ไม่มีใครช่วยเข็น ไปเที่ยวแล้วมีเพื่อนร่วมเดินทาง คอยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน คอยช่วยเหลือกัน มันก็น่าจะดีกว่า ในทีมของ start up ก็ต้องหาคนที่มาเติมเต็มกัน มีคนช่วยดูด้าน business CMO คนที่มาช่วยดูด้านการเงินและบัญชี CFO มีคนที่มาช่วยดูด้านการพัฒนา CTO ส่วน CEO ก็ต้องคอยรวมใจทุกคน

เป้าหมายของทีม ต้องชัดเจน และทุกคนเห็นตรงกัน มันเหมือนว่าเราจะต้องบอกทุกคนว่าเราจะไปเที่ยวไหนกัน จะไปภูเขา แล้วภูเขาลูกไหน บางครั้งในช่วงแรกปลายทางอาจจะไม่ชัดเจนมาก แต่ทุกคนก็อยากไปภูเขา ก็ออกเดินทางกันไปจากกรุงเทพ มุ่งไปภาคเหนือ พอไปถึงเขาใหญ่ เป็นไปได้เหมือนกันว่าเพื่อนคนนึงแฮปปี้ละ ขอปักหลักแค่เขาใหญ่ ก็จากกันไป ทีมที่เหลือก็เดินทางต่อไปเขาค้อ ไปดอยอินทนนท์ และอาจจะไปถึง Everest ที่เนปาล

Startup มักจะล้มเหลว เพราะทีมแตก ความเห็นไม่ตรงกัน ทำงานกันคนละทิศทาง ก็ต้องคุยกันเยอะ ๆ อัพเดทกันตลอดเวลา อย่าปล่อยให้เรื่องคาราคาซัง เคลียร์ ๆ กัน ห้ามเกรงใจกัน จะอึดอัดและไม่สนุก มันเหมือนอยู่เรือลำเดียวกัน แต่พายกันคนละทิศ เรือก็ไม่ไปไหน หากทีม co-founder เป็นเพื่อนกันมาก่อน ต้องคุยกันตั้งแต่แรก ประมาณว่า ถ้าวันนี้เราจำเป็นต้องเลิกกัน เรายังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิมได้นะเว้ย

  • เงิน

ในช่วงแรกเริ่มเป็นช่วงของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงยังไม่มีรายได้

หากว่าทีมเป็นนักศึกษา ยังไม่มีภาระที่จะต้องหาเงิน มีที่บ้านเลี้ยงดู ก็น่าสนใจที่จะร่วมทีมกัน ทำงานในเวลาว่างที่มี ช่วยกันลงแรงกัน ยังไม่ต้องจ้างใคร ไป meet up เยอะ ๆ เจอคนเยอะ ๆ ในมหาวิทยาลัยก็มักจะมีศูนย์บ่มเพาะ ก็พยายามเข้าไปร่วม และเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น

หากว่าทีมเป็นคนทำงานแล้ว เช่นเดียวกับผม เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ดูแลครอบครัว การจะเริ่มทำ start up จากศูนย์ ออกจากงานประจำ ต้องคิดให้รอบคอบ ต้องคิดว่าถ้าเราออกจากงานแล้ว ไม่มีรายได้เลย 1 ปี มันจะกระทบเราและคนรอบข้างแค่ไหน ถ้าเป็นไปได้ ก็ลองหาเวลาหลังเลิกงาน เสาร์-อาทิตย์ ในเฟสนี้ หรือหากว่าเงินเดือนเหลือ ก็สามารถจ้างคน อาจจะเป็นน้องจบใหม่ หรือนักศึกษาก็เป็นได้ BOTNOI เองก็เริ่มต้นมาจาก ผมมีไอเดียแต่ยังไม่ออกจากงานประจำ จ้างนักศึกษาฝึกงานมาช่วย ผมเช่า co-working space ให้น้อง ๆ 2–3 คน ทำงานกัน

ผ่านช่วงคิดไอเดียไปแล้ว เราสามารถเริ่มเอาไอเดียไป pitch นักลงทุน แต่ผมแนะนำว่า ที่ไทยจะมีรายการ hackathon เยอะเลย ไปนำเสนอดู ถ้าเราได้รางวัลกลับมาก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผมเองก็เริ่มจากการไปประกวด ผมเห็นจากเพื่อน ๆ start up ก็ไปประกวดมากันทั้งนั้น

หลังจาก hackathon ก็อาจจะขอทุนจากภาครัฐ เริ่มจาก TED Fund แล้วก็มี NIA มี DEPA และอาจจะมีจากต่างประเทศด้วย จะทำ Startup ต้องขวนขวายหาโอกาส ลองติดตามเพจ ติดตามเวปไซด์ โทรไปขอคำแนะนำปรึกษาจากหน่วยงานพวกนี้



Back

ร่วมกันพัฒนาและสร้างสรรค์

อนาคตใหม่ ไปพร้อมกับเรา

ร่วมกันพัฒนาและสร้างสรรค์

อนาคตใหม่ ไปพร้อมกับเรา